ข้อมูลเผยแพร่

นิติวิทย์ แจงแนวทางและมาตรฐานการชันสูตรศพที่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ หลังเกิดคดีไซยาไนด์


นิติวิทย์ แจงแนวทางและมาตรฐานการชันสูตรศพที่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ หลังเกิดคดีไซยาไนด์

          นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มอบหมายให้ โฆษก สนว. แจงแนวทางและมาตรฐานการชันสูตรศพที่เสียชีวิตโดยผิดธรรมชาติ โดยการปฏิบัติงานเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติงานของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย โดยจะมีการผ่าศพตรวจโดยละเอียด รวมถึงการส่งตรวจ ชีววัตถุต่าง ๆ เช่น เลือด น้ำวุ้นลูกตา อาหารในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะ เพื่อหาสารหรือยาที่อาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต อีกทั้งยังเปิดกว้างให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ติดใจสาเหตุการตาย สามารถติดต่อขอรับการตรวจชันสูตรซ้ำได้

          เมื่อวันที่ 29 เม.ย. นพ.ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ (สนว.) กล่าวถึงแนวทางและมาตรฐานการชันสูตรศพของสถาบันนิติวิทยาศาตร์ โดยการชันสูตรพลิกศพจะเริ่มตั้งแต่การตรวจสถานที่เกิดเหตุโดยแพทย์และพนักงานสอบสวนโดยเป็นไปตามกฎหมาย ป วิ อาญา มาตรา 150 ที่ได้กำหนดให้พนักงานสอบสวนแห่งท้องที่ที่ศพนั้นอยู่ กับแพทย์ทางนิติเวชศาสตร์ซึ่งได้รับวุฒิบัตร หรือได้รับหนังสืออนุมัติจากแพทยสภา ทำการชันสูตรพลิกศพโดยเร็ว โดยตาม ป วิ อาญา มาตรา 148 ได้กำหนดให้มีการชันสูตรพลิกศพที่ตายโดยผิดธรรมชาติ อันได้แก่ 

                    1.ฆ่าตัวตาย
                    2.ถูกผู้อื่นทำให้ตาย
                    3. ถูกสัตว์ทำร้ายตาย
                    4.ตายโดยอุบัติเหตุ
                    5.ตายโดยยังมิปรากฏเหตุ และรวมถึงการตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงาน

          นพ.ศราวุฒิ กล่าวว่า ปัจจุบันการปฏิบัติงานดังกล่าวข้างต้นของสถาบันนิติวิทยาศาตร์ ได้มีการจัดทำมาตรฐานการชันสูตรศพและได้รับการประกันคุณภาพจากราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย โดยการตรวจศพได้มีการกระทำโดยแพทย์นิติเวชและเป็นไปตามแนวทางการปฏิบัติงานของราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย ที่ได้กำกับโดยคณะอนุกรรมการกำหนดมาตรฐานทางนิติเวชศาสตร์ โดยมุ่งเน้นการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยตามแนวทางการปฏิบัติงานได้กำหนดให้แพทย์ต้องแจ้งพนักงานสอบสวนให้ส่งทั้งศพหรือบางส่วนไปชันสูตรเพิ่มเติมในกรณีดังต่อไปนี้

                    1.ไม่สามารถระบุว่าผู้ตายเป็นใคร และการผ่าศพอาจช่วยในการระบุ
                    2.ศพที่เป็นโครงกระดูก หรือศพที่ไหม้เกรียม
                    3.การตายที่เกิดจากหรืออาจเกิดจากถูกผู้อื่นทำให้ตาย
                    4.การตายที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
                    5.การตายผิดธรรมชาติ ในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตามหน้าที่
                    6.การตายในเด็กที่ไม่คาดคิดและไม่สามารถอธิบายได้
                    7.การตายที่เกิดจากสารพิษ
                    8.การตายที่เกี่ยวข้องกับการจราจร
                    9.การตายที่เกิดจากการบาดเจ็บจากการทำงาน ไฟฟ้าดูด การจมน้ำโดยไม่มีผู้พบเห็น
                    10.ไม่สามารถระบุ หรือสันนิษฐานสาเหตุการตายได้
                    11.มีผู้ใดผู้หนึ่ง สงสัยในสาเหตุการตายหรือพฤติการณ์การตาย หรืออาจมีปัญหาเกี่ยวกับการได้รับผลประโยชน์ของผู้ตาย     

             โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซึ่งกรณีที่ผู้เสียชีวิตได้รับการชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และเข้าข่ายในลักษณะดังกล่าวข้างต้น ศพจะได้รับการเคลื่อนย้ายมายังห้องผ่าชันสูตรศพ โดยจะมีการผ่าศพตรวจโดยละเอียด รวมถึงการส่งตรวจ ชีววัตถุต่าง ๆ เช่น เลือด น้ำวุ้นลูกตา อาหารในกระเพาะอาหาร ปัสสาวะ เพื่อหาสารหรือยาที่อาจจะเป็นสาเหตุของการเสียชีวิต ทั้งนี้เป็นไปมาตรฐานการชันสูตรศพ ซึ่งได้การรับรองจากราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์ทั้งนี้ตาม พรบ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ.2559 มาตรา 5(4) ได้เปิดกว้างให้ญาติผู้เสียชีวิตที่ติดใจสาเหตุการตาย สามารถติดต่อขอรับการตรวจชันสูตรซ้ำได้ที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น โปร่งใส อำนวยความยุติธรรม และเป็นไปตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรมที่ได้มุ่งเน้นถึงกระบวนการที่ทำให้เกิดความยุติธรรมในสังคม

“สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นองค์การนำในการพัฒนามาตรฐานงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคม”