ข้อมูลเผยแพร่

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมเวทีสรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม และองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมเวทีสรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิ 

พื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี

         นายแพทย์ศราวุฒิ สุจริตธรรม โฆษกสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 14-15 พฤศจิกายน 2565 แพทย์หญิงปรียาพรรณ เพชรปราณี นายแพทย์ชำนาญการ และนางสาววิไลพร ไหลงาม พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ กลุ่มนิติเวชคลินิก กองนิติวิทยาศาสตร์บริการ สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เข้าร่วมเวทีสรุปบทเรียนการทำงานคนไร้สิทธิพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการแบ่งปัน (มสป.) เครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ สำนักงานยุติธรรมจังหวัดอุบลราชธานี และโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งเป็นหน่วยงานนำร่องการให้บริการจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคลเพื่อพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร รวมถึงหน่วยงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินงานพัฒนาการเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพของคนไทยที่มีปัญหาสถานะทางทะเบียน ประกอบด้วย กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย 

         แพทย์หญิงปรียาพรรณฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมได้มีการร่วมกันสรุปบทเรียนการดำเนินงานของเครือข่ายที่ผ่านมา โดยการเสวนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ทบทวนกระบวนการดำเนินงาน ผลการปฏิบัติงาน ความคาดหวังในการทำงานเพื่อคนไร้สิทธิในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ร่วมดำเนินการจนถึงปัจจุบัน ปัญหาและอุปสรรค รวมถึงร่วมกันกำหนดยุทธศาสตร์และการวางแผนการหนุนเสริมการปฏิบัติงานเพื่อคนไร้สิทธิ ในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ให้เกิดกระบวนการพัฒนาการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลโดยกลไกในพื้นที่ และมีสถานที่จัดเก็บสารพันธุกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นหน่วยงานให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งดำเนินโครงการตรวจพิสูจน์สารพันธุกรรมแก่ราษฎรไร้สถานะ และประสบปัญหาสถานะทางทะเบียนราษฎร เพื่อนำผลการตรวจสารพันธุกรรม ที่ได้ดำเนินการเปรียบเทียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลผู้ประสบปัญหาและบุคคลอ้างอิงซึ่งกรมการปกครองได้ตรวจสอบข้อมูลแล้ว มาเป็นหลักฐานสำคัญประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาทางทะเบียนราษฎรอันนำมาสู่การมีสัญชาติไทย แต่เนื่องจากการตรวจสารพันธุกรรมมีค่าใช้จ่ายในการตรวจสูง ตามประเภทของการตรวจ ประกอบกับหน่วยงานที่สามารถตรวจสารพันธุกรรมได้มีจำกัด จึงเกิดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการตรวจสารพันธุกรรม 

         พันตำรวจตรี สุริยา สิงหกมล ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการอำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคม เพื่อแก้ไขปัญหาสถานะและสิทธิของคนไทยที่ตกหล่นทางทะเบียนราษฎร สำหรับการตรวจสารพันธุกรรมเพื่อพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งที่มาตรวจที่ทำการของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หรือที่ตั้งของผู้ประสบปัญหา ที่ผ่านมาสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ได้สร้างเครือข่ายโรงพยาบาลในพื้นที่ต่างๆ ในปีที่ผ่านมาได้มีโรงพยาบาลร่วมเป็นเครือข่ายจัดเก็บสารพันธุกรรมแล้ว จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี โรงพยาบาลตราด จังหวัดตราด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี และ โรงพยาบาลหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา เพื่อเป็นหน่วยงานจัดเก็บสารพันธุกรรมบุคคล โดยบูรณาการความร่วมมือในทุกมิติทั้งภาครัฐ องค์การไม่แสวงหากำไรและภาคประชาสังคมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง” 

ทั้งนี้ หากประสงค์ขอรับบริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ในด้านใด สามารถขอรับรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์บริการร่วม One Stop Service สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โทร 02 142 2646

“สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เป็นองค์การนำในการพัฒนามาตรฐานงานนิติวิทยาศาสตร์ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและคุ้มครองสังคม”

แนะนำลิ้งค์


Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner
Link Partner